Banner

ชาวไทลื้อได้อพยพจากแคว้นสิบสองปันนาหรือสิบสองพันนา มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของประเทศไทยนานกว่า 200 ปี แม้ว่าจะอาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่างกันก็ตาม แต่ชาวไทยลื้อก็ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้จวบจนทุกวันนี้

ไทลื้อมีการแต่งกาย อาหาร ภาษา วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ประเพณี และความเชื่อทางศาสนาเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผย แพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย


วัฒนธรรมไทลื้อเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาก ต่อไปการศึกษาค้นคว้าคงจะสะดวกขึ้นเพราะได้มีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ ขึ้นที่วัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นสถานที่ศึกษา รวบรวม และจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทลื้อโดยเฉพาะ นอกจากนี้การศึกษาวัฒนธรรมไทลื้อยังสามารถศึกษาได้จากวิถีชีวิตจริงของชุมชน ชาวไทลื้อ เช่น การแต่งกาย การย้อมผ้า หม้อฮ่อม ที่บ้านทุ่งมอก อำเภอเชียงคำ และบ้านท่าฟ้าใต้ อำเภอเชียงม่วน การทอผ้าถุง ตุงและย่ามที่บ้านหย่วน บ้านธาตุ บ้านทุ่งมอก และบ้านหนองลื้อ อำเภอเชียงคำ เป็นต้น


ในสังคมยุคโลกไร้พรมแดนนี้น่าเป็นห่วงการแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมไทลื้อ มาก เพราะการเผยแพร่วัฒนธรรมของต่างชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพวกเราชาวไทลื้อ ควรที่จะต้องยึดมั่นในวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น จึงจะทำให้วัฒนธรรมไทลื้อ สามารถดำรงอยู่คู่ล้านนาต่อไป

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์

 

กลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า”ลื้อ”เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไตคือ ไตลื้อหรือไทลื้อ ไต ลื้ออาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนา ตอนใต้มณฑลยูนาน ประเทศจีน นอกจากนี้ ชาวไตลื้อยังอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน เมืองยองประเทศพม่า ตอนเหนือประเทศลาว เวียตนาม และภาคเหนือของประเทศไทย
ชนชาติไตรวมทั้งไตลื้อ เรียกตนเองว่า”ไต”ไม่มี”ท”ใช้ในภาษาของเขา ไตลื้อที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเรียกตนเองคือไทลื้อ ซึ่งมันเป็นเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการการยอมรับว่าตนเองคือคนไทย


บรรดาชนชาติไตปัจจุบันกลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยของหลายๆประเทศคือ ไตลื้อ(จีน) ไตเขิน,ไทใหญ่(พม่า) ไตดำ(เวียตนาม) ไตลาว,ผู้ไท(ลาว) ไตยวนหรือคนเมือง(ไทย) คนไตเหล่านี้ล้วนเคยมีอาณาจักรและราชสำนักที่ยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของตนเองทั้ง สิ้น เพียงแต่โดยสายเลือดดั้งเดิมพวกเขารักสงบไม่ใช่ชนชาตินักรบ จึงต้องตกอยู่ในอำนาจของคนอื่นเสมอมา แต่กระนั้นพวกเขาก็ยัง
“..อ่อนนุ่มและไหลเหมือนน้ำ แทรกซึมไปเรื่อย เปลี่ยนสีไปตามท้องฟ้า เปลี่ยนรูปไปตามความคดเคี้ยว ของฝั่ง แต่ก็ยังรักษาไว้ซึ่งลักษณะสำคัญของชนชาติและภาษา ชนชาติไตได้แผ่ออกไปเหมือนผ้าผืนใหญ่มหึมา ปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ตังเกี๋ย ลาว สยาม จนกระทั่งถึงพม่าและอัสสัม..”

อ.วิชัย ศรีจันทร์